ไฟลัมเนมาโทดา (Phylum Nematoda)


ลักษณะสำคัญ
1. ลำตัวยาวทรงกระบอก มีสมมาตรแบบครึ่งซีก
2. ลำตัวปกคลุมด้วยชั้นของคิวติเคิล ไม่พบซีเลย และแฟลเจลลา
3. มีกล้ามเนื้อตามยาวช่วยในการเคลื่อนไหว
4. มีช่องลำตัวเทียมขนาดใหญ่ ระหว่างผนังลำตัวที่เป็นกล้ามเนื้อและลำไส้
5. ระบบขับถ่ายของเสียประกอบด้วยเซลล์ต่อม มีรูเปิดออก บางชนิดมีแต่ท่อขับถ่าย บางชนิดมีทั้งท่อขับถ่ายและเซลล์ต่อม
6. คอหอยมีกล้ามเนื้อและมีรัศมีสามแนว
7. ระบบสืบพันธุ์เพศผู้มีท่อเปิดออกสู่ rectum ในเพศเมียจะมีท่อนำไข่เปิดออกแยกจากช่องขับถ่าย
8. ของเหลวที่อยู่ในช่องลำตัวเทียม ห่อหุ้มด้วยคิวติเคิล ทำหน้าที่เป็นโครงค้ำจุนชนิดเหลว

โครงสร้างและหน้าที่การทำงาน
ลำตัวของหนอนตัวกลมเป็นทรงกระบอก ยาว หัวท้ายปิด ในพวกที่มีขนาดเล็กมากจึงจะมีรูปร่างเหมือนเส้นด้าย สามารถปรับตัวให้แทรกอยู่ตามที่ว่างต่าง ๆ ได้ หนอนตัวกลมส่วนมากมีขนาดลำตัวยาวน้อยกว่า 5 ซม. และอีกมากมายหลายชนิดที่ต้องมองจากกล้องจุลทรรศน์ แต่ก็พบว่ามีอยู่บางชนิดที่ดำรงชีวิตแบบปรสิตจะมีขนาดลำตัวที่ยาวมากกว่าเมตร

1. โครงสร้างของลำตัวและการเคลื่อนไหว
คิวติเคิลที่ปกคลุมอยู่นอกสุดของร่างกายมีความหนา และมีโครงสร้างที่ซับซ้อนมาก ผิวด้านนอกสุดอาจเป็นสัน ลาย หรือเรียกมัน ซึ่งเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ชั้นของคิวติเคิลนี้จะช่วยปกป้องร่างกาย ของพวกที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต ให้พ้น จากการถูกย่อยโดยเอนไซม์ที่ย่อยอาหารภายในลำตัวโฮสท์ ใต้ชั้นคิวติเคิลเป็นชั้นอีพิเดอร์มิส ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส เรียงรอบลำตัว ใต้ชั้นนี้ลงไปเป็นชั้นของกล้ามเนื้อตามยาวแต่เพียงอย่างเดียวตลอดลำตัว การเคลื่อนที่จึงเป็นการงอตัวไปมาช่องว่างภายในลำตัวแบบเทียมเจริญดีมาก เป็นที่บรรจุของเหลวที่ทำหน้าที่เป็นโครงค้ำจุน บางชนิดว่ายน้ำโดยงอตัวพบไปมาทางด้านบน ด้านล่าง เคลื่อนตัวไปมาบนสาหร่าย ทราย อนุภาคของดิน การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างเส้นใยอีลาสติก และแรงดันของของเหลวภายในช่องลำตัวเทียม




2. ระบบทางเดินอาหาร
ปากประกอบด้วยริมฝีปากที่มีขนแข็งสั้นรับความรู้สึก บริเวณรอบปากมีสมมาตรรัศมี ทวารหนักอยู่บริเวณท้ายสุดของร่างกาย พวกที่ดำรงชีวิตอิสระ จะมีต่อมผลิตเมือกเหนียวเรียก ดูโอแกลนด์ (duogland) ช่วยใน การยึดเกาะ ปากจะเปิดเข้าสู่ช่องภายในปาก (buccal cavity) ซึ่งอาจจะมีฟันตั้งอยู่ด้วย ช่องภายในปากเชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อคอหอย ส่วนของลำไส้ตรงยาวทำหน้าที่ย่อยอาหารและดูดซึมอาหาร กากอาหารจะถูกขับออกทางทวาร ในพวกที่เป็นอิสระจะล่าเหยื่อโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงหรือกินเหยื่อทั้งตัว บางชนิดอาศัยอยู่ตามซากอินทรียวัตถุ บางชนิดมีสไตเล็ท (stylet) ยื่นออกมาจากปาก ช่วยในการจับเหยื่อ หรือแทงเข้าไปในเซลล์ของพืช



3. ระบบขับถ่ายของเสีย
ระบบขับถ่ายไม่ใช้โปรโตเนพฟริเดียเหมือนหนอนตัวแบน แต่จะมีต่อมและท่อซึ่งจะเปิดออกที่รูด้านท้องกลางลำตัว ซึ่งช่วยควบคุมปริมาณน้ำในร่างกาย

4. ระบบประสาท
มีจุดรวมศูนย์การทำงานที่ระบบประสาทส่วนกลางที่ประกอบด้วย เส้นประสาทวงแหวนล้อมรอบ หลอดอาหาร และมีปมประสาทด้านข้าง ปมประสาทด้านหลัง ปมประสาทด้านท้อง และมีเส้นประสาทอื่น ๆ อีกมากมายการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนท้องและส่วนหลังถูกควบคุมโดยเส้นประสาทต่าง ๆ เหล่านี้

5. ระบบสืบพันธุ์
ส่วนมากเป็นพวกแยกเพศ มีการปฏิสนธิภายใน บางชนิดตัวผู้เกาะติดกับตัวเมีย อยู่ตลอดเวลา ระบบสืบพันธุ์เพศเมีย ประกอบด้วยรังไข 1 คู่ มีลักษณะเป็นท่อ มีท่อนำไข่เปิดเข้าสู่มดลูก (uterus) ไข่จะออกสู่ช่องสืบพันธุ์ (gonopore) ตรงบริเวณรูเปิดตอนกลางลำตัว เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย โดยระบบสืบพันธุ์ เพศผู้จะประกอบด้วยเทศทิส (testis) ท่อนำสเปอร์ม (spem duct) และถุงเก็บสเปอร์ม ช่องเปิดของสเปอร์มจะเปิดเข้าสู่ไส้ตรง (rectum) บริเวณนี้จะมีหนาม (spicule) ใช้สำหรับยึดตัวเมียขณะผสมพันธุ์ บริเวณช่องสืบพันธุ์ของตัวเมีย หนอนตัวกลมบางชนิดจะเป็นกระเทย และอาจสืบพันธุ์โดยวิธี พาร์ทีโนเจนิซิส (parthenogenesis) พบมากในหนอนตัวกลมที่อาศัยอยู่ในดิน สเปอร์มของหนอนตัวกลมจะไม่มีแฟลเจลลา ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วจะมีเปลือกหนาหุ้มไข่จะถูกวางบริเวณซากพืชหรือในดิน ตัวอ่อนจะมีรูปร่างคล้ายตัวเต็มวัย และมีการลอกคราบ 4 ครั้ง จึงจะเจริญเป็นตัวแก่ ในหลาย ๆ ชนิดพบว่าถ้าสภาพแวดล้อม ในการดำรงชีวิตไม่เหมาะสมการเจริญเติบโตในระยะตัวอ่อน อาจจะมีการหยุดชะงักได้

Cryptobiosis หมายถึงการดำรงชีวิตของหนอนตัวกลมในสภาวะที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าหนอนตัวกลมจะประสบความสำเร็จในการหาถิ่นที่อยู่ในสภาพต่าง ๆ ได้ดี หม่ว่าจะเป็นแผ่นฟิล์มของน้ำบาง ๆ หรือหยดน้ำขนาดเล็ก ๆ แต่ก็พบว่าในบางสภาวะที่มีการขาดแคลนน้ำ หนอนตัวกลมเหล่านี้ ก็ยังสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ เราเรียกการดำรงชีวิตนี้ว่า cryptobiosis ซึ่งพบได้ในสัตว์อื่น ๆ นอกจาก หนอนตัวกลมด้วย เช่น โรติเฟอร์


ที่มา : http://coursewares.mju.ac.th:81/e-learning47/section2/bi220/content/chap7/index.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น