อาณาจักรสัตว์

อาณาจักรสิ่งมีชีวิต
     สิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดแบ่งหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการศึกษา และการนำมาใช้ประโยชน์ วิชาที่ว่าด้วยการจัดแบ่งหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า อนุกรมวิธาน (Taxonomy) นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชาอนุกรมวิธาน คือ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linnaeus) ชาวสวีเดน

ชื่อของสิ่งมีชีวิต มี 2 ชนิด
     1. ชื่อสามัญ (common name) คือ ชื่อที่เรียกกันทั่วๆไป อาจเรียกตามลักษณะรูปร่าง ถิ่นกำเนิดหรือสถานที่อยู่ก็ได้เช่น ปากกาทะเล หอยมุก เป็นต้น ซึ่งชื่อดังกล่าวอาจเรียกต่างกัน ในแต่ละที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
     2. ชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) ลินเนียสเป็นผู้เริ่มใช้เป็นคนแรก โดยสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยชื่อ 2 ชื่อ ชื่อแรกเป็นชื่อ จีนัส ชื่อที่2 เป็นชื่อ สปีชีส์ เขียนด้วยภาษาลาติน ชื่อจีนัสตัวแรกเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ ตัวแรกของสปีชีส์เป็นชื่อตัวเล็กธรรมดา ต้องเขียนให้ต่างจากอักษรอื่นเช่น ตัวเอน ตัวหนา หรือขีดเส้น ทั้ง 2 ชื่อไม่ติดกันเรียกระบบนี้ว่า การตั้งชื่อแบบทวินาม (binomial nomenclature)

ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกสิ่งมีชีวิต
     1. ลักษณะภายนอกและโครงสร้างภายใน
     2. แบบแผนการเจริญเติบโตและโครงสร้างระยะตัวอ่อน
     3. ซากดึกดำบรรพ์ของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบ
     4. โครงสร้างของเซลล์และออร์แกเนล
     5. สรีระวิทยาและการสังเคราะสารเคมี
     6. ลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต

ลำดับขั้นในการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต
     ลำดับขั้นของหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต (taxonomy category) มีการจัดลำดับตั้งแต่ใหญ่ที่สุด ถึงเล็กที่สุดดังนี้
        1. อาณาจักร (kingdom)
        2. ไฟลัม (phylum) หรือดิวิชัน (division)
        3. คลาส (class)
        4. ออร์เดอร์ (order)
        5. แฟมิลี (family)
        6. จีนัส (genus)
        7. สปีชีส์ (species)

     อาร์ เอช วิทเทเคอร์ (R.H.Whittadker) ได้แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 5 อาณาจักร คือ
        1. อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)
        2. อาณาจักรฟังใจ (Kingdom Fungi)
        3. อาณาจักรโพรติสตา (Kingdom Protista)
        4. อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)
        5. อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Amialia)

อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)
     อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) สิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในอาณาจักรมีมากกว่า 1.7 ล้านสปีชีส์ ในจำนวนนี้เป็นแมลงประมาณ 6 แสนชนิด สัตว์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในแง่ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานไปยังผู้บริโภคระดับต่างๆ นอกจากนี้สัตว์ยังเป็นตัวทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีความสำคัญในการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช และก่อให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ

เกณฑ์ในการพิจารณาและจัดสิ่งชีวิตเข้าไว้ในอาณาจักรสัตว์
     1. เซลล์แบบยูคาริโอต (eukaryotic cell) คือเซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ในไซโทพลาสซึมมีออร์แกนเนลล์ต่างๆ กระจายอยู่
     2. ร่างกายประกอบด้วยเซลล์ชนิดที่ไม่มีผนังเซลล์ เรียกว่าเซลล์สัตว์ ทำให้เซลล์มีลักษณะอ่อนนุ่มและแตกต่างไปจากเซลล์พืช เซลล์เหล่านี้จะมารวมกันเป็นเนื้อเยื่อเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่าง ซึ่งพบว่าเซลล์ในเนื้อเยื่อมักมีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน มีการประสานการทำงานระหว่างกัน สัตว์ชั้นสูงมีเนื้อเยื่อหลายชนิดสามารถจำแนกตามหน้าที่และตำแหน่งที่อยู่ของร่างกายเป็น 5 ประเภท คือ เนื้อเยื่อบุผิว(epithelial tissue) เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ(muscular tissue) เนื้อเยื่อลำเลียง (vascular tissue) และเนื้อเยื่อประสาท (nervous tissue)
     3. สร้างอาหารเองไม่ได้ เพราะไม่มีคลอโรฟิลล์ ดังนั้นการดำรงชีวิตจึงต้องกินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหารซึ่งอาจเป็นพืชหรือสัตว์ด้วยกัน การดำรงชีวิตจึงมักเป็นแบบผู้ล่าเหยื่อหรือปรสิตเสมอ
     4. โดยทั่วไปเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต มีบางชนิดพบว่าเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วเกาะอยู่กับที่
     5. โดยส่วนใหญ่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีระบบประสาท มีอวัยวะรับความรู้สึกและตอบสนอง เช่น การกินอาหาร การขับถ่าย การสืบพันธุ์ เป็นต้น

เกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกหมวดหมู่ของอาณาจักรสัตว์
     ปัจจุบันสัตว์ในโลกที่มนุษย์รู้จักมีมากกว่า 1 ล้านสปีชีส์ พบทั้งในน้ำจืด น้ำเค็มและบนบก ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) และสามารถจำแนกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ได้ราว 35 ไฟลัม แต่ส่วนใหญ่จะเรียนรู้กันเฉพาะไฟลัมใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งในการจัดจำแนกจะใช้เกณฑ์ต่าง ๆดังนี้
     1. ระดับการทำงานร่วมกันของเซลล์ (level of cell organization) โดยดูการร่วมกันทำงานของเซลล์และการจัดเป็นเนื้อเยื่อนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทำให้แบ่งสัตว์ออกเป็นพวกใหญ่ ๆ คือ
        1.1 เนื้อเยื่อที่ไม่แท้จริง( no true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า พาราซัว (parazoa) เนื่องจากเซลล์ในสัตว์กลุ่มนี้ไม่มีการประสานงานกันระหว่างเซลล์ โดยเซลล์ทุกเซลล์จะมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตของตนเอง หน้าที่ทั่วไปคือด้านโภชนาการ และสืบพันธุ์ ได้แก่ พวกฟองน้ำ
        1.2 เนื้อเยื่อที่แท้จริง (true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า ยูเมตาซัว (eumetazoa) ซึ่งเนื้อเยื่อจะถูกสร้างขึ้นเป็นชั้น หรือเรียกว่า ชั้นของเนื้อเยื่อ (germ layer) มี 2 ประเภทคือ
             1.2.1 เนื้อเยื่อ 2 ชั้น (diploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก (ectoderm) และเนื้อเยื่อชั้นใน (endoderm) ได้แก่ พวกไฮดรา แมงกะพรุน โอบีเลีย
             1.2.2. เนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก ชั้นกลาง (mesoderm) และชั้นใน ได้แก่พวกหนอนตัวแบนขึ้นไป จนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
     2. สมมาตร (symmetry) คือลักษณะการแบ่งร่างกายออกเป็นซีก ๆ ตามความยาวของซีกเท่า ๆ กัน มีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่
        2.1 ไม่มีสมมาตร (asymmetry) มีรูปร่างไม่แน่นอน ไม่สามารถแบ่งซีกซ้ายและซีกขวาได้ เท่า ๆ กัน ได้แก่ พวกฟองน้ำ
        2.2 สมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry) ร่างกายของสัตว์จะมีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก หรือล้อรถ ถ้าตัดผ่านจุดศูนย์กลางแล้วจะตัดอย่างไรก็ได้ 2 ส่วนที่เท่ากันเสมอ หรือเรียกว่า มีสมมาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กันหลาย ๆ ครั้งในแนวรัศมี ได้แก่ สัตว์พวกไฮดรา แมงกะพรุน ดาวทะเล เม่นทะเล

        2.3 สมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry) หรือมีสามาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กัน เพียง 1 ครั้ง สมมาตรแบบนี้สามารถผ่าหรือตัดแบ่งครึ่งร่างกายตามความยาวของลำตัวแล้วทำให้ 2 ข้างเท่ากัน ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม แมลง สัตว์มีกระดูกสันหลัง
     3. ลักษณะช่องว่างในลำตัวหรือช่องตัว (body cavity or coelom) คือช่องว่างภายในลำตัวที่อยู่ระหว่างผนังลำตัวกับอวัยวะภายในตัว ภายใน coelom มักจะมีของเหลวอยู่เต็ม ของเหลวเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งระบบไหลเวียนโลหิตง่าย ๆ ในสัตว์บางพวกช่วยลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน และของเสีย เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยลดแรงกระแทกจากภายนอกที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน และยังเป็นบริเวณที่ทำให้อวัยวะภายในเคลื่อนที่ได้อิสระจากผนังลำตัว ยอมให้อวัยวะขยายใหญ่ได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสัตว์ได้ แบ่งเป็น 3 พวกคือ
        3.1 ไม่มีช่องว่างในลำตัวหรือไม่มีช่องตัว (no body cavity or acoelom) เป็นพวกที่มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นอยู่ชิดกัน โดยไม่มีช่องว่างในแต่ละชั้น ได้แก่พวกหนอนตัวแบน
        3.2 มีชองตัวเทียม (pseudocoelom) เป็นช่องตัวที่เจริญอยู่ระหว่าง mesoderm ของผนังลำตัว และ endoderm ซึ่งเป็นทางเดินอาหาร ช่องตัวนี้ไม่มีเยื่อบุช่องท้องกั้นเป็นขอบเขต ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม โรติเฟอร์ (rotifer)
        3.3 มีช่องตัวที่แท้จริง (eucoelom or coelom) เป็นช่องตัวที่เจริญแทรกอยู่ระหว่าง mesoderm 2 ชั้น คือ mesoderm ชั้นนอกเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำตัว (body wall) กับ mesoderm ชั้นในซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำไส้ (intestinal wall) และ mesoderm ทั้งสองส่วนจะบุด้วยเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) ได้แก่ ไส้เดือนดิน หอย แมลง ปลา สัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น
     4. การเกิดช่องปาก ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์ตามการเกิดช่องปากได้ 2 กลุ่ม
        4.1 โปรโตสโตเมีย (protostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดก่อนช่องทวารในขณะที่เป็นตัวอ่อน ซึ่งช่องปากเกิดจากบลาสโตพอร์ หรือบริเวณใกล้ ๆ บลาสโตพอร์ (blastopore) ได้แก่ พวกหนอนตัวแบน หนอนตัวกลม หนอนมีปล้อง หอย สัตว์ขาปล้อง
        4.2 ดิวเทอโรสโตเมีย (deuterostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดภายหลังช่องทวาร เกิดจากช่องใหม่ที่จะเจริญพัฒนาไปเป็นทางเดินอาหารซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ บลาสโตพอร์ ได้แก่ พวกดาวทะเล และสัตว์มีกระดูกสันหลัง
     5. ทางเดินอาหาร (digestive tract) โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
        5.1 ทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก หรือมีช่องทางเดินอาหารเข้าออกทางเดียวกัน หรือทางเดินอาหารแบบปากถุง (one-hole-sac) ได้แก่พวกไฮดรา แมงกะพรุน หนอนตัวแบน
        5.2 ทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ (complete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีทั้งปากและทวารหนัก หรือมีช่องทางเข้าออกของอาหารคนละทางกัน หรือทางเดินอาหารแบบท่อกลวง (two-hole-tube) ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม จนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง
     6. การแบ่งเป็นปล้อง (segmentation) การแบ่งเป็นปล้องเป็นการเกิดรอยคอดขึ้นกับลำตัวแบ่งออกเป็น
        6.1 การแบ่งเป็นปล้องเฉพาะภายนอก (superficial segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นเฉพาะที่ส่วนผิวลำตัวเท่านั้นไม่ได้เกิดตลอดตัว เช่น พยาธิตัวตืด
        6.2 การแบ่งเป็นปล้องที่แท้จริง (metameric segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นตลอดลำตัวทั้งภายนอกและภายใน โดยข้อปล้องเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชั้นกลาง ทำให้เนื้อเยื่อชั้นอื่น ๆ เกิดเป็นปล้องไปด้วย ได้แก่ ไส้เดือน กุ้ง ปู แมลง ตลอดไปจนสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด

สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้แบ่งเป็น 9 ไฟลัม คือ
1. ไฟลัมพอริเฟอรา(Phylum Porifera)
2. ไฟลัมซีเลนเทอราตา(Phylum Coelenterata)
3. ไฟลัมเนมาโทดา (Phylum Nematoda)
4. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda)
5. ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)
6. ไฟลัมเอชิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata)
7. ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส (Phylum Platyhelminthes)
8. ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)
9. ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida)
ที่มา : https://kanyabin.wordpress.com/2010/07/14/%

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น