ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส (Platyhelminthes)
Platyhelminthes มาจากภาษากรีก (platy +
helminth = flat worm) หมายถึง หนอนที่มีลำตัวแบน ได้แก่
พวกหนอนตัวแบน ชื่อสามัญ flat worm มีทั้งที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ
เรียก หนอนตัวแบน และพวกที่เป็นพยาธิในสัตว์อื่น เรียก พยาธิตัวแบน
โดยสัตว์ในไฟลัมนี้อาศัยอยู่ทั้งในน้ำเค็ม น้ำจืด และบริเวณพื้นดินที่มีชื้นสูง
พบประมาณ 20,000 สปีชีส์
ลักษณะที่สำคัญ
1. มีสมมาตรเป็นแบบครึ่งซีก (bilateral
symmetry)
2. มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นครบถ้วน (triloblastics)
ไม่มีช่องตัว (acoelomate) คือ ไม่มีช่องว่างระหว่างผนังลำตัวกับผนังทางเดินอาหาร
ผนังชั้นนอกอ่อนนุ่ม บางชนิดมีซิเลีย เช่น พลานาเลีย บางชนิดมีคิวทิเคิล (cuticle)
หุ้มและมีปุ่มดูด หรือขอเกี่ยว (hooks) สำหรับยึดเกาะกับโฮสต์
(host) เช่น พยาธิใบไม้ (flukes) พยาธิตัวตืด
(tapeworms)
3. ร่างกายแบนทางด้านหลังและด้านท้อง (dorsoventrally)
ไม่มีข้อปล้อง แต่บางชนิด เช่น พยาธิตัวตืด มีข้อปล้อง
แต่เป็นปล้องที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวลำตัวเท่านั้น
4. พวกที่มีการดำรงชีวิตอย่างอิสระ จะมีเมือกลื่นๆ
หุ้มตัว เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (parasitic
type) จะมีคิวทิเคิล (cuticle) หุ้มตัวซึ่งสร้างจากเซลล์ที่ผิวของลำตัว
ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายซึ่งเกิดจากน้ำย่อยของผู้ถูกอาศัย (host)
5. มีท่อทางเดินอาหารที่เป็นปลายตัน
หรือเป็นแบบที่ไม่สมบูรณ์ มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก
และพบว่าทางเดินอาหารแตกแขนงออกเป็น 2-3 แฉก ส่วนในพยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหาร
6. สัตว์ในไฟลัมนี้เริ่มมีการรวมตัวของอวัยวะแสดงลักษณะหัว
(cephalization) คือ มีปมประสาทสมอง อวัยวะรับความรู้สึก
และช่องปากมารวมกันอยู่ทางด้านหน้าของลำตัว
7. ระบบขับถ่าย มีอวัยวะ ที่เรียกว่า โพรโตเนฟริเดีย (protonephridia)
มีลักษณะเป็นท่อที่ปลายด้านในปิด และมีท่อไปเปิดออกด้านนอก
ซึ่งประกอบด้วยท่อตามยาวหลายท่อ (protonephridial canal) จากท่อเล็กๆ
นี้จะมีท่อแยกไปเป็นท่อย่อย (capillary) ที่ปลายท่อย่อยมีเซลล์โพรโตเนฟริเดียลักษณะเป็นรูปถ้วย
(flame bulb) มีแฟลกเจลลัมเป็นกระจุกอยู่ด้านในของถ้วย
ซึ่งจะโบกพัดไปมาคล้ายเปลวเทียน จึงเรียกว่า เฟลมเซลล์ (flame cell = เซลล์เปลวไฟ)
การโบกพัดของแฟลกเจลลัมทำให้เกิดแรงดึงน้ำผ่านเข้าสู่ท่อของเสียที่โพรโตเนฟริเดีย
กำจัดออกในรูปของแอมโมเนียที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งจะไหลออกมาตามท่อ
และออกสู่ภายนอกทางช่องเปิด ที่เรียกว่า เนฟริดิโอพอร์ (nephridiopore)
8. ไม่มีอวัยวะที่ใช้ในการหายใจโดยเฉพาะ
ในพวกปรสิตจะหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic respiration) เช่น พยาธิใบไม้ ซึ่งพบว่ากระบวนการนี้ให้คาร์บอนไดออกไซด์
และอินทรีย์สารสะสมอยู่ในร่างกายสูง ความเข้มข้นของน้ำนอกร่างกายสูงกว่าภายในร่างกาย
จึงมีผลทำให้น้ำเคลื่อนผ่านเข้าสู่ร่างกาย
ระบบขับถ่ายจึงทำหน้าที่ปรับสภาวะน้ำภายในร่างกายให้สมดุล
ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ จะหายใจแบบใช้ออกซิเจน (aerobic
respiration) โดยการใช้ผิวตัวในการแลกเปลี่ยนแก๊ส
9. ระบบประสาท ประกอบด้วย ปมประสาทด้านหน้า (anterior
ganglia) หรือปมประสาท รูปวงแหวน (nerve ring) ทำหน้าที่เป็นสมองเชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ตามยาว (longitudinal
nerve cord) ซึ่งทอดไปตามยาวของร่างกายจำนวน 2 เส้น
และมีเส้นประสาทตามขวาง (transverse nerve) เชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ทั้งสองด้วย
มีอวัยวะรับสัมผัสแบบง่ายๆ บางชนิดมีตา (eye spot)
10. ระบบสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยมีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน
จัดเป็นกะเทย (hermaphrodite) มีการปฏิสนธิภายในตัวเอง (self
fertilization) และปฏิสนธิแบบข้ามตัว (cross fertilization) และมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการงอกใหม่ (regeneration)
สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งออกเป็น 3 Class
1. Class Turbellaria เช่น พลานาเรีย
ซึ่งดำรงชีพโดยหากินอย่างอิสระ
2. Class Trematoda เช่น พยาธิใบไม้ชนิดต่างๆ
ซึ่งดำรงชีพโดยการเป็นปรสิต
3. Class Cestoda เช่น พยาธิตัวตืด
ซึ่งดำรงชีพโดยเป็นปรสิต
ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/kingdom_of_animalia/09.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น