ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Phylum Coelenterata)หรือ ไฟลัมไนดาเรีย (Phylum Cnidaria)


คำศัพท์ไฟลัมมาจากภาษากรีกว่า cnide แปลว่า nettle เป็นพืชที่พบในเขตอบอุ่นและหนาวที่มีลักษณะของขนที่ต่อยได้ (stinging hairs) ไฟลัมนี้มีการเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ Phylum Coelenterata คำศัพท์มาจากภาษากรีกว่า koilosแปลว่า hollow เป็นโพรง และคำว่า enteron แปลว่า gut ทางเดินอาหาร แปลโดยรวมว่าสัตว์ทีมีทางเดินอาหารเป็นโพรงกลวง
สัตว์ที่อยู่ในไฟลัมนี้ เรียกว่า ซีเลนเทอเรต (coelenterate) มีกำเนิดมาในยุคโบราณแคมเบรียน ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในทะเล เช่น ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน มีเพียงส่วนน้อยอยู่ในน้ำจืด เช่น ไฮดรา แมงกะพรุนน้ำจืด

ลักษณะสำคัญ
1. มีสมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry)
2. มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้นที่แท้จริง โดยมี ectoderm (epidermis) เป็นชั้นนอก endoderm (gastrodermis) เป็นชั้นใน ระหว่าง 2 ชั้นนี้มีสารหรือเนื้อหนาๆ ลักษณะคล้ายวุ้นอาจจะมีเซลล์หรือไม่มี เรียกว่า มีโซเกลีย (mesoglea) คั่นกลาง



3. ทางเดินอาหารเป็นแบบปากถุงไม่สมบูรณ์ (one-hole-sac) มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก ช่อง ทางเดินอาหารนี้อยู่กลางลำตัวทำหน้าที่เป็นทั้งทางเดินอาหารและ ระบบหมุนเวียน เรียกว่าแกสโทรวาสคูลาร์ คาวิตี (Gastrovascularcarvity)
4. การย่อยอาหารมีทั้งแบบการย่อยภายในเซลล์ (intracellular digestion) และย่อยภายในช่องกลวงกลางลำตัว ซึ่งเป็นการย่อยภายนอกเซลล์ (extracellular digestion)
5. มีเทนทาเคิล (tentacle) รอบปาก และมีเซลล์นิโดบลาสต์ (cnidoblast) แทรกอยู่ในชั้นเนื้อเยื่อผิว เซลล์นี้มีขนยื่นออกไป ภายในถุงของเซลล์นิโดบลาสต์จะมีนีมาโตซิสต์ (nematocyst) ซึ่งเป็นเข็มพิษสำหรับแทงศัตรูหรือเหยื่อให้เป็นอัมพาตหรือตายได้



6. ไม่มีระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายโดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไปอาศัยการแพร่ของก๊าซและของเสียต่างๆระหว่างน้ำที่ อยู่รอบๆตัวกับผิวลำตัวโดยตรง หรือมีเซลล์ชนิดพิเศษเช่นเซลล์ ที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร (nutritive cell) ช่วยทำหน้าที่ ย่อยและดูดซึมสามอาหาร เพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายต่อไป
7. ระบบประสาทเป็นแบบข่ายใยประสาท(Nerve net)แผ่กระจายทั่วตัว และหนาแน่นบริเวณหนวดดังนั้นการนำกระแสประสาทจึงเป็นไปในลักษณะทุกทิศทุกทาง ทำให้กระแสประสาทเคลื่อนที่ไปได้ช้าและมีทิศทางไม่แน่นอนซึ่งแตกต่างจากสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ
8. มีทั้งประเภทที่มี 2 เพศในตัวเดียวกัน (monoecious) และบางชนิดก็แยกเพศเป็นตัวผู้และตัวเมีย (dioecious)
9. มีรูปร่างแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
             9.1 โพลิป (polyp form) เช่น ไฮดรา ปะการัง ดอกไม้ทะเลหรือซีแอนิโมนี เป็นรูปทรงกระบอก ปลายด้านบน (oral end) ประกอบด้วยปากและเทนทาเคิล ปลายด้านล่างยึดติดกับวัตถุต่างๆ
             9.2 เมดูซา (medusa form) เช่น แมงกะพรุน มีร่างรูปคล้ายร่ม หรือระฆังคว่ำ oral end หันลงด้านล่างตามปกติ เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระไม่ยึดติดกับสิ่งใด
10. การสืบพันธุ์ มีทั้งแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ แบบอาศัยเพศโดยการสร้างเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกัน เกิดในรูปร่างเมดูซา ยกเว้น ไฮดรา แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อหรือการแบ่งตัว เกิดในรูปร่างโพลิป ซีเลนเทอเรตหลายชนิด เช่น แมงกะพรุน โอบีเลียมีวงจรชีวิตแบบสลับ (metagenesis) คือมีช่วงชีวิตที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศสลับกับช่วงชีวิตที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
แมงกะพรุนตัวผู้ปล่อยอสุจิลงสู่น้ำทะเล อสุจินี้จะเข้าผสมกับไข่ในทางเดินอาหารของแมงกะพรุนตัวเมีย ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะออกจากทางเดินอาหารและมาเกาะอยู่ที่แขนซึ่งอยู่รอบปาก เรียกว่า โอรัลอาร์ม (oral arm)ระยะหนึ่ง จากนั้นจะมีการพัฒนาของตัวอ่อนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่งซึ่งมีขนรอบตัว เรียกว่า พลานูลา (planula) ซึ่งจะว่ายน้ำออกจากโอรัลอาร์มของตัวแม่และหาที่เกาะ เจริญขึ้นเป็นโพลิปเล็กๆ อยู่ก้นทะเล
เมื่อโพลิปนี้เจริญขึ้นถึงระยะหนึ่งจะแตกหน่อและแบ่งตัวตามขวาง เป็นระยะที่เรียกว่า สโตรบิลา (strobila) ส่วนที่ได้จากการแบ่งตัวตามขวางนี้จะหลุดออกทีละชั้นและเป็นตัวอ่อนอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า อีไฟรา (ephyra) ซึ่งจะเจริญเป็นแมงกะพรุนตัวเต็มวัยระยะเมดูซาต่อไป


                                พลานูลา (planula) เป็นตัวอ่อนที่ได้จากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
                                อีไฟรา (ephyra) เป็นตัวอ่อนที่ได้จากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
11. การเคลื่อนที่ ไฮดราเคลื่อนที่ได้หลายแบบโดยการทำงานของกล้ามเนื้อ มีทั้งโดยการลอยตัว (floating) การยืดหดตัว และการหกคะเมนตีลังกาโดยใช้กล้ามเนื้อลำตัวและเทนทาเคิล ซึ่งแบบนี้เรียกว่า walking




เเมงกะพรุนในระยะเมดูซา เคลื่อนที่โดยพ่นน้ำออกจากลำตัว ปะการัง ดอกไม้ทะเล เกาะนิ่งอยู่กับที่          
                 
การจัดจำแนก
สัตว์พวกซีเลนเทอราตา เเบ่งออกเป็น 3 คลาส คือ
1. Class Hydrozoa เป็นพวกที่มีรูปร่างทั้งแบบโพลิปและเมดูซา เมดูซามีลักษณะวีลัม ชั้น mesoglea ไม่มีลักษณะเซลล์ เซลล์สืบพันธุ์อยู่ที่ผิวชั้นนอก พบทั้งในน้ำจืดและในทะเล เช่น ไฮดรา โอบิเลีย เเมงกะพรุนน้ำจืด



2. Class Scyphozoa เป็นพวกที่มีรูปร่างแบบเมดูซาเป็นลักษณะเด่น ไม่มีลักษณะของวีลัม ชั้น mesoglea ลักษณะเป็นเซลล์ เซลล์สืบพันธุ์เป็นเซลล์ชั้นใน เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด เช่น แมงกะพรุน



3. Class Anthozoa เป็นพวกที่ไม่มีลักษณะรูปร่างแบบเมดูซา mesoglea ลักษณะเป็นเซลล์ เซลล์สืบพันธุ์อยู่ในเนื้อเยื่อชั้นใน ช่องว่างในร่างกายแบ่งเป็นห้องๆ โดยแผ่นเนื้อเยื่อที่เรียกว่า mesenteries เป็นพวกที่อาศัยอยู่ในทะเลทั้งหมด มีการดำรงชีพทั้งแบบเดี่ยวและแบบโคโลนี เช่น ซีเเอนนีโมนี ปะการัง กัลปังหา




ประโยชน์
1. แนวหินปะการัง ให้ความสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นกำแพงธรรมชาติ ช่วยลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมและกระแสน้ำ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแพร่กระจายพันธุ์ของสัตว์ทะเล
2. ไฮดรา ใช้เป็นผู้ล่าควบคุมลูกน้ำ
3. แมงกะพรุนถ้วย ใช้เป็นอาหาร
โทษ
แมงกะพรุนไฟหลายชนิดมีพิษร้ายแรง ถ้าถูกเข้าจะทำให้ได้รับอันตราย เป็นผื่นคัน เป็นแผล ปวดแสบ ปวดร้อน เป็นไข้

ที่มา : http://bio_up62.krubpom.com/2.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น